บ่อโข้ง “โข้ง” มาจากคำว่า โข่ง ซึ่งเป็นชื่อหอยโข่ง เป็นหอยฝาเดียวและบ่อมีลักษณะเหมือนหอยโข่ง บางคนก็เรียกว่า บ่อค้ง มาจากคำว่า “บ่อคง” คือ คงทน ถาวร (ไม่แห้งจะมีน้ำอยู่ตลอดเวลา) บางคนก็สันนิษฐานว่า บ่อค้ง คือ มุ้ง เป็นภาษาเหนือซึ่งแปลว่า หลุม บ่อ
บ่อโข้ง อยู่ในท้องที่ตำบลสบปราบ อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง อยู่ทางทิศตะวันออกของ ๓ หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ ๓ บ้านวังพร้าว หมู่ที่ ๖ บ้านวัฒนาและหมู่ที่ ๗ บ้านสบเรียง ถนนทางเข้าเข้าได้ ๓ ทาง คือ ตรงหน้าโรงเรียนบ้านวังพร้าว-สบเรียง หน้าวัดศรีบุญเรืองและทางบ้านวัฒนา
บ่อโข้งเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ของอำเภอสบปราบ ซึ่งคนสมัยก่อน ๆ เล่าให้ฟังว่า ในสมัยพุทธกาลพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ดับขันธ์ปรินิพพาน พระพุทธองค์ได้เสด็จธุดงค์เพื่อโปรดสัตว์มาจากบ้านแม่ไทย อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง อยู่ทางทิศเหนือของตำบลสมัย อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง และได้มีสิงห์สาราสัตว์หลายชนิดได้ติดตามพระองค์มา เช่น เสือ ช้าง ม้า วัว ควาย สุนัข ไก่ ฯลฯ
พอเดินทางมาถึงสถานที่บ่อโข้งในปัจจุบัน บรรดาสัตว์ทั้งหลายหิวน้ำ เพราะบริเวณนั้นเป็นภูเขา สัตว์ทั้งหลายได้ทูลต่อพระพุทธเจ้าว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นสัตว์เดรัจฉาน ด้อยซึ่งความรู้และปัญญา ไม่สามารถจะเสาะแสวงหาแหล่งน้ำดื่ม เพื่อประทังชีวิตได้ จึงขอพึ่งพระบารมีของพระโพธิสมภาร พระพุทธเจ้าได้ทรงฟังแช่นนั้น จึงเกิดพระเมตตายิ่งนัก จึงทรงสำแดงปาฏิหาริย์มีพระวรกายสูงใหญ่ และทรงใช้พระอังคุฐ (หัวแม่มือ) กดลงบนแผ่นหินขนาดใหญ่
ปรากฏว่าแผ่นหินที่พระองค์ทรงกดลงนั้นขยายออกและเป็นบ่อ ทันใดนั้นตรงก้นบ่อก็มีน้ำทิพย์พุ่งออกมาจนเต็มบ่อ บรรดาสัตว์ทั้งหลายเห็นดังนั้นเกิดความปิติยินดีอย่างท่วมท้น จึงกล่าวคำว่า “สาธุ” พร้อมกันถ้วนหน้า และตรงรีเข้าไปแย่งกันดื่ม เพื่อบรรเทาความกระหายน้ำ สัตว์บางชนิดก็ไม่ค่อยสบายก็กลับมีสุขภาพแช็งแรง ในขณะที่พระองค์ทรงใช้พระอังคุฐกดลงบนแผ่นหินนั้น พระองค์ทรงท่าประทับคร่อมเพื่อใช้แรงกด พระองค์ใช้พระบาทยันกับหินอีกก้อนหนึ่ง จึงเกิดรอยพระบาทขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับบริเวณบ่อโข้ง มีปรากฏให้เห็นในปัจจุบันนี้ บรรดาสัตว์ป่าและชาวบ้านที่ไปเลี้ยงวัว ควาย ไปทำไร่ ทำนา ก็ใช้น้ำนี้ดื่ม น้ำจะไม่แห้งจะเต็มบ่อตลอดไม่ว่าฤดูไหน ๆ ประชาชนที่เห็นก็เล่ากันต่อ ๆ มา มีชาวบ้านต่างตำบลก็พากันนมัสการ นำไปดื่ม-อาบเพื่อป้องกันโรคสืบกันมาจนถึงปัจจุบันนี้
ในวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๘ (เหนือ) จะมีประชาชนไปทำบุญกันบริเวณบ่อโข้งทุกปี ตอนเช้าพิธีทางศาสนา ตอนบ่ายจะมีการจุดบ้องไฟแข่งขันกันอย่างสนุกสนาน ตอนจะกลับบ้าน ทุกคนจะนมัสการ และนำน้ำจากบ่อโข้งไปเผื่อแผ่ให้ครอบครัวและลูกหลานทางบ้าน เพื่อนำไปอาบ- ดื่ม เป็นสิริมงคลและป้องกันโรค-รักษาโรค ชาวอำเภอสบปราบจะมีความเชื่อว่า บ่อโข้ง เป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ของอำเภอสบปราบ ดังคำขวัญอำเภอสบปราบ “อุทยานแห่งชาติดอยจง มั่นคงวัฒนธรรม งามล้ำน้ำตกแม่ไซงู เชิดชูบ่อน้ำทิพย์ อ่างนับสิบรอบเมือง”
(ภาพ:ข้อมูล งานพัฒนาชุมชน สำนักปลัดเทศบาลตำบลสบปราบ จ.ลำปาง)